วิชาระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเลี้ยงดู พ.ศ.2549

                                                                       


    บทที่ ๑

    กล่าวทั่วไป 

              

๑. ความมุ่งหมาย

เพื่อให้หน่วยทหารมีระบบการเลี้ยงดู เป็นแนวทางเดียวกันทหารได้รับประทานอาหาร ที่มีคุณค่าและถูกต้องตามหลักโภชนาการ ในปริมาณที่เพียงพอ และสามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่นโยบายกองทัพบกกำหนด ทหารได้รับประโยชน์จาก เบี้ยเลี้ยง ในการเลี้ยงดูมากที่สุด

๒. คำจำกัดความ

๒.๑ อาหาร คือ สิ่งที่ทหารใช้บริโภคประจำวัน เพื่อการดำรงชีพ ได้แก่ ข้าว เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ของแห้ง รวมทั้งเครื่องปรุงทุกชนิด

              เสบียงแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท

๒.๑.๑ เสบียง คือ อาหาร ชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ในการเลี้ยงดูทหาร ที่ให้ประโยชน์มีคุณค่า และปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของทหาร ๑ คน ต่อ ๑ วัน

๒.๑.๒  เสบียงประเภท ก. หมายถึง อาหารสด อาหารแห้งทุกชนิด ซึ่งใช้บริโภคประจำวันตามรายการอาหาร ก่อนรับประทานจะต้องทำการหุงต้มเสียก่อน ทั้งนี้ให้หมายรวมทั้งข้าวสาร และอาหารแห้ง และเครื่องปรุง
๒.๑.๓  เสบียงประเภท  ข.  หมายถึง  อาหารที่บรรจุกระป๋อง หรือภาชนะอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้ ซึ่งสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน ในอุณหภูมิปกติ ก่อนรับประทานอาจต้องประกอบ หรือปรุงบ้างเล็กน้อย
๒.๑.๔  เสบียงประเภท  ค.  หมายถึง  อาหารสำเร็จรูป จ่ายเป็นชุดให้ทหารรับประทานได้ทันที  การเบิกจ่ายจะต้องได้รับการอนุมัติจากกองทัพบกก่อน
๒.๑.๕  เสบียงประเภท  ง. หมายถึง  อาหารที่ย่อยง่าย  ใช้สำหรับเป็นอาหารชูกำลัง และบำรุงร่างกาย สำหรับผู้เจ็บป่วย  เช่น  ซุป  นม  และผลไม้
๒.๒  “ หน่วยประกอบเลี้ยง ”  หมายถึง    หน่วยระดับกองพันหรือเทียบเท่าขึ้นไป หน่วยกองร้อย หรือเทียบเท่า ที่ปฏิบัติงานโดยอิสระ หรือหน่วยระดับกองร้อยหรือเทียบเท่า ซึ่งเป็นหน่วยขึ้นตรงของหน่วย ตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป ที่มีความพร้อมทั้งด้านสถานที่ สิ่งอุปกรณ์เจ้าหน้าที่ในการเลี้ยงดูทหาร และได้รับการอนุมัติให้ทำการเลี้ยงดูทหาร จากหน่วยบังคับบัญชาที่เป็นหน่วยขึ้นตรงของกองทัพบก
๒.๓ “ หน่วยแจกจ่าย ” หมายถึง หน่วยซึ่งมีหน้าที่จัดหา สะสม และแจกจ่ายอาหารเชื้อเพลิงสนับสนุนหน่วยประกอบเลี้ยงในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่  กรมพลาธิการทหารบก  มณฑลทหารบกจังหวัดทหารบก  และหรือกองบัญชาการช่วยรบ
๒.๔  “ เกณฑ์จ่ายอาหาร ” หมายถึง ปริมาณอาหารชนิดต่าง ๆ ซึ่งกรมพลาธิการทหารบก กำหนดขึ้นสำหรับให้จ่ายทหาร โดยพิจารณาความต้องการอาหารประจำวันของแต่ละคน
๒.๕ “ จำนวนเบิกอาหาร ”   หมายถึง  จำนวนทหาร ซึ่งหน่วยประกอบเลี้ยงแจ้งล่วงหน้า ไปยังหน่วยแจกจ่าย ตามเวลาที่หน่วยแจกจ่ายกำหนด เพื่อขอรับอาหารมาประกอบเลี้ยง และหน่วยแจกจ่ายใช้เป็นยอดจ่ายอาหารและคิดเงินด้วย
๒.๖  “ จำนวนเบิกเบี้ยเลี้ยงได้ ” หมายถึง จำนวนทหารที่มีอยู่ตามยอดกำลังพลประจำวันของหน่วยประกอบเลี้ยง ที่นำส่งต่อหน่วยแจกจ่าย
๒.๗ “ จำนวนรับประทานจริง ” หมายถึง จำนวนทหารที่รับประทานอาหารของหน่วยประกอบเลี้ยงในแต่ละมื้อ

๓. ความรับผิดชอบ

๓.๑ ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นต้องรับผิดชอบ ในกิจการเลี้ยงดูทหาร ภายในหน่วยของตนดังต่อไปนี้
๓.๑.๑  ปรับปรุงกิจการเลี้ยงดูให้เป็นระเบียบรัดกุม และเป็นผลดีแก่ทหารมากที่สุด
๓.๑.๒ ป้องกันมิให้อาหารเสื่อมสูญ เสียหาย ไปโดยเปล่าประโยชน์
๓.๑.๓  ควบคุมการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ และรับทราบผลอยู่เสมอ
๓.๒ กรมพลาธิการทหารบกมีหน้าที่ อำนวยการ ดำเนินการ และกำกับการ ให้การเลี้ยงดูเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยปฏิบัติดังนี้
๓.๒.๑   เสนอแนะนโยบายการเลี้ยงดูแก่กองทัพบก จะจัดทำวิธีการปฏิบัติปรับปรุงระดับมาตรฐานการเลี้ยงดูทุกขั้นตอน และทุกระดับหน่วย (เว้นการเลี้ยงดูทหารป่วยเจ็บของโรงพยาบาลและสถานพยาบาลทหาร)
๓.๒.๒  จัดทำคู่มือการปฏิบัติ ข้อเสนอแนะ คำชี้แจง เกี่ยวกับการเลี้ยงดูทุกขั้นตอน และทุกหน้าที่ จัดทำสูตรอาหาร วิธีการประกอบอาหาร และสิ่งที่ใช้แทนกันได้
๓.๒.๓  จัดให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติเกี่ยวกับกิจการเลี้ยงดู
๓.๒.๔  กำกับกิจการเลี้ยงดูทหารทั่วทั้งกองทัพบก
๓.๒.๕  ตรวจผลงานศึกษาพิจารณางาน ให้คำแนะนำที่เกี่ยวกับกิจการเลี้ยงดู
๓.๒.๖  แก้ปัญหาข้อขัดข้อง ของหน่วยต่าง ๆ เพื่อมิให้การเลี้ยงดูทหารหยุดชะงัก หรือเกิดการเสียหายใด ๆ
๓.๓  เจ้าหน้าที่สายการแพทย์ของหน่วยต่าง ๆ
๓.๓.๑  สำรวจอาหารที่ทหารบริโภคจริง ๆ ว่าเพียงพอหรือไม่ โดยเลือกทำจากหน่วยทหารบางแห่งก็ได้
๓.๓.๒ สอบสวน ค้นหาสาเหตุ เมื่อเกิดอาหารเป็นพิษ หรือโรคทางเดินอาหารระบาดขึ้น
๓.๓.๓ ควบคุมและแนะนำการสุขาภิบาล ที่หน่วยประกอบอาหาร โรงเลี้ยงตลอดถึงบริเวณทั่วไปด้วย
๓.๓.๔ ร่วมเป็นกรรมการตรวจรับอาหาร และให้การตรวจสุขาภิบาลในหน่วยตลอดถึงการตรวจสุขภาพ เจ้าหน้าที่ประกอบเลี้ยง และพนักงานเลี้ยงดูด้วย
๓.๔  เจ้าหน้าที่สายการสัตว์ของหน่วยต่าง ๆ ปฏิบัติดังนี้
๓.๔.๑ ตรวจหรือร่วมในการตรวจสัตว์ก่อนฆ่า หรือซื้อ และไม่ยินยอมให้รับซื้อเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นโรค ซึ่งขัดต่อการใช้เป็นอาหาร
๓.๔.๒ ควบคุมการฆ่าสัตว์ ในกรณีซึ่งทางราชการ ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการฆ่าสัตว์ได้เองให้เป็นไปโดยถูกสุขลักษณะ ทั้งนี้รวมถึงการควบคุมคุณภาพ อาหาร โรงฆ่าสัตว์  ที่พักสัตว์  การประปา  การไฟฟ้า ที่เก็บซากสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์เครื่องชำแหละ และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าสัตว์ ตลอดจนการกำจัดมูลฝอยและแหล่งน้ำเสีย
๓.๔.๓ ตรวจสัตว์ หรือซากสัตว์ และสิ่งกำเนิดจากสัตว์ภายหลังการฆ่า เพื่อยึดและทำลายส่วนที่เป็นโรค หรือส่วนที่เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค และประทับตรา “ ตรวจแล้วใช้เป็นอาหารได้ ” ให้แก่ซากสัตว์ที่กำเนิดจากสัตว์ ที่ใช้ประกอบอาหารได้
๓.๔.๔  ตรวจการตบแต่งซากสัตว์ หรือสิ่งกำเนิดจากสัตว์ การจับต้องการลำเลียงขนส่งเพื่อให้อยู่ในสภาพที่น่ารับประทาน และปลอดภัยแก่ผู้บริโภค
๓.๔.๕  ร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจคุณภาพเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์สัตว์ และสิ่งกำเนิดจากสัตว์ ตลอดจนผัก พืชผลต่างๆ 
อันเกี่ยวกับการเสื่อมเสีย และเป็นพิษ ซึ่งเกิดจากสัตว์แมลง และเคมีภัณฑ์ 
๓.๕  กรมพลาธิการทหารบก มณฑลทหารบก จังหวัดทหารบก และหรือกองบัญชาการช่วยรบมีหน้าที่จัดหา สะสม และแจกจ่ายอาหาร สนับสนุนหน่วยประกอบเลี้ยงในเขตรับผิดชอบโดยปฏิบัติ ดังนี้
๓.๕.๑  อำนวยการจัดหาและแจกจ่ายอาหารแก่หน่วยประกอบเลี้ยง โดยเจ้าหน้าที่สายยุทธบริการ ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ปฏิบัติ ให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนด
๓.๕.๒ ปรับปรุงแก้ไขกิจการเลี้ยงดู ให้เหมาะกับสภาพการณ์ในท้องถิ่น และเสนอแนะด้านวิชาการ ที่เห็นสมควร ไปยังกรมพลาธิการทหารบก
๓.๕.๓ รายงานผลการปฏิบัติตามกำหนดเวลา
๓.๕.๔ หากเป็นการสมควรก็อาจแต่งตั้งคณะกรรมการ ควบคุมการเลี้ยงดูขึ้นคณะหนึ่งจำนวนตามความเหมาะสม ประกอบด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ของส่วนภูมิภาค และหน่วยประกอบเลี้ยง เพื่อทำหน้าที่ควบคุมแนะนำการเลี้ยงดูเป็นส่วนรวมภายในค่ายทหารของตนก็ได้
๓.๖  นายทหารกำกับการเลี้ยงดู ให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยประกอบเลี้ยง แต่งตั้งนายทหารทำหน้าที่กำกับดูแลการเลี้ยงดู โดยดัดเลือกนายทหารที่มีความรู้ และเคยมีประสบการณ์ปฏิบัติงานการเลี้ยงดูมาแล้ว โดยให้ปฏิบัติดังนี้
๓.๖.๑  กำกับดูแลการปฏิบัติงานต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงการเลี้ยงดู และการเก็บรักษาอาหารเพื่อให้ทหารได้รับประโยชน์มากที่สุด
๓.๖.๒  พิจารณาผลการประกอบเลี้ยงจากความนิยมรับประทานอาหารของทหาร เพื่อนำมาปรับปรุงเกี่ยวกับ  ชนิด ปริมาณคุณภาพ วิธีการปรุงอาหารและอื่น ๆเพื่อเป็นแนวทางสำหรับเสนอแนะกรมพลาธิการทหารบก ตามความเหมาะสมต่อไป
๓.๖.๓  นายทหารกำกับการเลี้ยงดูของหน่วยเหนือ กำกับดูแลการปฏิบัติการเลี้ยงดูของหน่วยรองให้เป็นไปตามแบบธรรมเนียมของทางราชการด้วย
๓.๖.๔ รายงานผลการปฏิบัติพร้อมทั้งเสนอแนะ  การแก้ไขต่อผู้บังคับหน่วยตามระยะเวลา
๓.๖.๕  กำกับดูและการปรนนิบัติบำรุง การเบิกเปลี่ยนสูทภัณฑ์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบเลี้ยง เพื่อให้หน่วยมีใช้ได้ตลอดเวลา
๓.๖.๖ เสนอแนะผู้บังคับหน่วยประกอบเลี้ยง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประกอบเลี้ยงทุกหน้าที่ ได้รับการฝึกอบรม และสามารถทำหน้าที่แทนกันได้

การเลี้ยงดูกรณีพิเศษ


๑. การเลี้ยงดูทหารเจ็บป่วย
๑.๑  ทหารเจ็บป่วย สามารถรับการเลี้ยงดู เช่นเดียวกับทหารทั่วๆ ไปได้ ให้หน่วยประกอบเลี้ยง ดำเนินการประกอบเลี้ยงตามคำแนะนำของแพทย์
๑.๒ ทหารเจ็บป่วยที่เข้ารับการรักษา พยาบาล ในหน่วย พยาบาลทหาร ให้หน่วยพยาบาลทหาร ดำเนินการเลี้ยงดู ได้ตามความเหมาะสม
๒. การเลี้ยงดูทหารที่นับถือศาสนาอิสลาม
๒.๑ ถ้าหน่วยประกอบเลี้ยงใด มีทหารที่นับถือศาสนาอิสลามจำนวนน้อย หน่วยนั้นอาจพิจารณาจ่ายเบี้ยเลี้ยงบุคคล ให้กับทหารเหล่านั้น โดยไม่ต้องประกอบเลี้ยงก็ได้
๒.๒ ถ้าหน่วยประกอบเลี้ยงใด มีทหารที่นับถือศาสนาอิสลาม จำนวนเพียงพอที่จะทำการประกอบเลี้ยงอาหารอิสลามได้ ให้หน่วยนั้นประกอบเลี้ยงอาหารอิสลามแก่ทหารเหล่านั้น โดยกำหนดรายการอาหาร และยอดจำนวนทหารที่นับถือศาสนาอิสลาม
๓. การเลี้ยงดูทหารต้องโทษ ให้ปฏิบัติตามระเบียบโดยอนุโลม
๔. นักเรียนทหาร ที่ได้รับเบี้ยเลี้ยงประจำสูงกว่าพลทหาร ไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบนี้ และให้ผู้บัญชาการโรงเรียน กำหนดระเบียบได้เองตามความเหมาะสม ทั้งนี้นักเรียนทหารจะต้องลงนามรับเงินเบี้ยเลี้ยงเต็มจำนวนเสียก่อน เพื่อให้เป็นไปตามนัยที่กรมบัญชีกลางได้ชี้แจง
๕. ในกรณีที่หน่วยประกอบเลี้ยง เคลื่อนย้ายออกจากหน่วยที่ตั้งเดิม ไปเข้าที่ตั้งใหม่ ให้หน่วยประกอบเลี้ยงเบิกอาหารจากหน่วยประกอบเลี้ยงที่ใกล้เคียง โดยแจ้งให้หน่วยแจกจ่ายเดิม และหน่วยแจกจ่ายใหม่ทราบเป็นการล่วงหน้า
๖. ให้กรมพลาธิการทหารบก ดำเนินการอบรมเจ้าหน้าที่ในหน่วยประกอบเลี้ยง ทุกคนให้มีความรู้ ความสามารถ ในการประกอบเลี้ยงได้เป็นอย่างดี

หน่วยประกอบเลี้ยง

๑.  หน่วยระดับกองพัน หรือหน่วยระดับเทียบเท่า เป็นหน่วยประกอบเลี้ยง ซึ่งต้องจัดตั้งครัวประกอบเลี้ยงทหาร ในหน่วยของตนเอง ในบางโอกาสอาจจัดครัวประกอบเลี้ยงทหารขึ้นที่หน่วยเหนือ หรือหน่วยรองก็ได้ตามความจำเป็น เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาของหน่วยประกอบเลี้ยง จะได้พิจารณาสั่งการ ตามความเหมาะสมเป็นครั้งคราว แต่จะต้องแจ้งให้หน่วยแจกจ่ายทราบด้วย
๒. หน่วยประกอบเลี้ยงมีหน้าที่รับผิดชอบ และปฏิบัติดังนี้
๒.๑ ผู้บังคับหน่วยประกอบเลี้ยง
๒.๒ เจ้าหน้าที่ประกอบเลี้ยง
๒.๓ พนักงานครัวตามอัตรา
๒.๔ พนักงานเลี้ยงดู ซึ่งจัดจากหน่วยรองของหน่วยประกอบเลี้ยง ตามความจำเป็นและอยู่ในความอำนวยการของเจ้าหน้าที่ตามข้อ ๒.๑
๓. หน่วยประกอบเลี้ยง ควรจัดให้มีสถานที่เหล่านี้ คือ
๓.๑ ที่เก็บอาหาร
๓.๒ ที่เก็บเชื้อเพลิง
๓.๓ ที่เก็บเครื่องมือ เครื่องใช้
๓.๔ ที่ประกอบอาหาร
๓.๕ ที่เลี้ยงอาหาร
๓.๖ พื้นที่ทำความสะอาดภาชนะ
๓.๗ ที่ทิ้งเศษอาหาร
๓.๘ ที่พักเจ้าหน้าที่ประกอบเลี้ยง
๔. เครื่องมือ เครื่องใช้ ในการปฏิบัติการเลี้ยงดูทหาร ของหน่วยประกอบเลี้ยงให้เบิกรับจากคลังส่วนภูมิภาค หรือกรมพลาธิการทหารบก ตามอัตราที่กองทัพบกกำหนด
        ๕. หน้าที่และความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่
๕.๑ ผู้บังคับบัญชา ผู้บังคับบัญชาของหน่วยไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการเลี้ยงดูทหารในบังคับบัญชาให้เหมาะสม ในโรงเลี้ยงต้องมีการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม ต้องตรวจการปฏิบัติงานในโรงเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นหลักประกันได้ว่าการบริการอาหารมีมาตรฐานสูงสุด มีการสุขาภิบาลที่ดี มีการจัดเจ้าหน้าที่ไว้เพียงพอ และได้รับการฝึกมาอย่างดีแล้ว ตรวจดูปริมาณอาหารที่ทางโรงเลี้ยงได้รับไว้นั้นว่าครบถูกต้อง และอาหารที่จ่ายมานั้นมีการควบคุมจำนวนอาหาร  การประกอบอาหาร  และมีการถนอมอาหารหรือไม่ นายทหารชั้นผู้บังคับบัญชา หรือผู้แทน จะต้องรับประทานอาหารใน
โรงเลี้ยง  ๑  มื้อทุกวัน  เพื่อจะได้สรุปในเรื่องปริมาณ และคุณภาพของอาหารที่รับประทานได้ถูกต้อง
๕.๒ นายทหารกำกับการเลี้ยงดู เป็นผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้งจาก ผู้บังคับบัญชาให้กำกับดูแล การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในโรงเลี้ยงของหน่วย ถ้านายทหารกำกับการเลี้ยงดู อยู่ที่โรงเลี้ยงประจำหน่วย  สั่งงานผ่านทางนายสิบสูทกรรม  ความรับผิดชอบของนายทหารกำกับการเลี้ยงดู  มีดังต่อไปนี้
๕.๒.๑ รับอาหารของหน่วย  ควบคุมดูแลเครื่องใช้ และอุปกรณ์ ที่จำเป็นในการปฏิบัติการเลี้ยงดูของหน่วย
๕.๒.๒  ตรวจโรงเลี้ยงเสมอ เพื่อตรวจสอบดูว่าอาหารมีการเก็บอย่างถูกต้องตามชนิดของอาหารหรือไม่ ประกอบอาหารตามรายการที่กำหนดหรือไม่  มีการปฏิบัติตามใบสั่งงานครัวในเรื่องต่าง ๆ การเตรียมการประกอบและการบริการอาหาร ตรวจดูเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในโรงเลี้ยงมีการปรนนิบัติบำรุง การซ่อมบำรุง และการใช้อย่างถูกต้อง มีการสุขาภิบาลทุกด้านอย่างเข้มงวด และอาหารต้องไม่เสียหาย
๕.๒.๓ กำหนดวิธีการถนอมอาหาร และป้องกันการสะสมอาหารมากเกินไป
๕.๒.๔ ตรวจดูการบริการอาหาร ว่าวิธีแจกจ่ายอาหารเหมาะสม และมีอาหารตัวอย่างวางไว้ เพื่อตรวจดูความน่ารับประทาน และรสชาติอาหาร
๕.๒.๕ กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่สูทกรรม มีการฝึกฝน และมีการปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น กำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สูทกรรม
๕.๒.๖ กำกับดูแลการบันทึก การส่งกำลัง การเก็บเครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนบัญชีการเลี้ยงดู
- ตรวจดูการปฏิบัติงานในการนับว่าถูกต้องตามกรรมวิธี คือ การลงรายการ คิดอัตราเงินได้ถูกต้อง
- จัดทำรายการตรวจสอบให้ถูกต้องเรียบร้อย ตรวจดูยอดกำลังพลมื้ออาหาร เพื่อนำมาจัดอาหารตามจำนวน และเป็นหลักฐาน
- มีการบันทึกและนำส่งเงินค่าอาหารแต่ละมื้ออย่างถูกต้อง

๕.๒.๗ ให้คำแนะนำ เรื่องอาหารแก่เจ้าหน้าที่ และขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาเรื่องอาหารและหน่วยประกอบเลี้ยง
๕.๒.๘ ประสานงานในเรื่องการตรวจหน่วยประกอบเลี้ยง
๕.๒.๙ จัดเตรียมแผน ทดแทนเกี่ยวกับเครื่องเครื่องใช้ และดำเนินการให้ได้ตามเวลาที่กำหนด

๖. นายสิบสูทกรรม เป็นบุคคลสำคัญในการดำเนินการ ประกอบเลี้ยงของหน่วยรับผิดชอบต่อจากนายทหารกำกับการเลี้ยงดู ในเรื่องการปฏิบัติงานควบคุมภายในหน่วยประกอบเลี้ยงรับหน้าที่ภารกิจในการประกอบเลี้ยง แบ่งมอบหน้าที่ในการกำกับดูแลให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชารองลงมาปฏิบัติ หน้าที่และความรับผิดชอบของนายสิบสูทกรรมมีดังนี้
๖.๑ กำกับดูแลการเตรียมงานตามปกติ การประกอบอาหารและการบริการอาหาร
- ตรวจงานด้านบริการ เพื่อพิจารณาปริมาณและคุณภาพอาหาร
- ดูว่าทหารชอบรับประทานอาหารประเภทไหน และให้ข้อแนะนำกับที่ปรึกษาเรื่องอาหาร เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรายการอาหาร
- ตรวจดูขั้นตอนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ประกอบอาหาร เพื่อให้แน่ใจว่าได้มีการประกอบอาหาร ได้อย่างถูกต้องแล้ว ซึ่งจะทำให้อาหารไม่เกิดการสูญเสีย
๖.๒ จัดทำใบสั่งงานครัว ประเมินค่าความสามารถของเจ้าหน้าที่แต่ละคน เพื่อนำมาเป็นแนวทาง แนะนำในการปฏิบัติงานในใบสั่งงานครัว หรือคำแนะนำอื่น ๆ
๖.๓ จัดทำแผนการ และวิธีปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่ประกอบอาหาร และเจ้าหน้าที่สูทกรรมคนอื่น ๆ เพื่อนำมาเขียนระเบียบปฏิบัติประจำ ต้องรู้จำนวนกำลังพลที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ ในหน่วยประกอบเลี้ยง มอบหมายงานให้ปฏิบัติและติดตามผล
๖.๔ จัดให้มีการประชุมเจ้าหน้าที่สูทกรรมประจำวัน เพื่อพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับการเตรียมอาหารการประกอบอาหาร การบริการอาหาร ตลอดถึงปัญหาที่เกี่ยวกับหน่วยประกอบเลี้ยง วิธีการปรับปรุงกิจการเลี้ยงดูให้ดียิ่งขึ้น
๖.๕ ให้คำแนะนำกำกับดูแลแก่เจ้าหน้าสูทกรรม  ในการที่จะปฏิบัติตามความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
๖.๖ เสนอแนะเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ ตลอดจนการฝึกอบรมฟื้นฟูให้ความรู้ในด้านอาหาร และโภชนาการ แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อจะได้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในปัจจุบันและอนาคตต่อไป
๖.๗ เตรียมทำระเบียบปฏิบัติประจำเกี่ยวกับการตรวจ และรวบรวมยอดกำลังพลที่รับการเลี้ยงดู และแนะนำรายละเอียดในหน้าที่ของแต่ละคนอย่างถี่ถ้วน
๖.๘ รับผิดชอบในเรื่องการรับรอง การเก็บรักษา การทำบัญชี และการส่งคืนเงินสดจากการซื้อขายอาหารมื้อต่าง ๆ พร้อมด้วยสมุดบัญชีเงิน ตรวจดูจำนวนบุคคลตามที่ได้รับอนุมัติเท่านั้น จึงจะยอมให้เข้ารับประทานอาหารในโรงเลี้ยงได้ และถือเป็นยอดรายงานที่ถูกต้อง
๖.๙ ตรวจเจ้าหน้าที่สูทกรรม เรื่องความสะอาด
๖.๑๐ ตรวจดูอาคารโรงเลี้ยง เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ตลอดถึงบริเวณรอบ ๆ ให้อยู่ในสภาพที่ถูกต้องตามสุขลักษณะ
๖.๑๑ รับผิดชอบในเรื่องความปลอดภัยของ หน่วยประกอบอาหาร อาคาร เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดถึงอาหารและเงินสด
๖.๑๒ ตรวจเครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ อยู่เสมอ รายงานปัญหาและเสนอแนะการซ่อมบำรุงตลอดจนการประสานเกี่ยวกับการทดแทน เครื่องใช้แก่นายทหารกำกับการเลี้ยงดู
๖.๑๓ รายงานการชำรุดไปยังนายทหารกำกับการเลี้ยงดู เพื่อทำการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบ
๖.๑๔ ประมาณการจำนวนมื้ออาหาร เตรียมอาหารและเบิกไว้
๖.๑๕ เตรียมและทำบัญชีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูไว้
๖.๑๖ ศึกษาค้นคว้าจากคู่มือ ทางเทคนิค ตลอดถึงข่าวสารและสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับกิจการประกอบเลี้ยง เพื่อเป็นการพัฒนาให้ทันสมัยอยู่เสมอ
๖.๑๗ วางแผนเกี่ยวกับการบริการอาหาร ในงานเลี้ยงฉลองในพิธีต่าง ๆ โดยกำหนดบุคคลที่จะต้องปฏิบัติตามความเหมาะสมเป็นพิเศษ
๖.๑๘ ตรวจสอบการปฏิบัติงานในโรงเลี้ยง เพื่อให้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
๖.๑๙ รักษาคำสั่งและระเบียบของโรงเลี้ยงไว้ตลอดเวลา
๗. ผู้ช่วยนายสิบสูทกรรม เมื่อได้รับอนุมัติให้มีผู้ช่วยนายสิบสูทกรรม ซึ่งจะต้องปฏิบัติงานขึ้นตรงต่อนายสิบสูทกรรม ในการกำกับดูแลการปฏิบัติในโรงเลี้ยง การแบ่งหน้าที่นายสิบสูทกรรม และผู้ช่วยนายสิบสูทกรรมจะต้องปฏิบัติหน้าที่แทน ในกรณีที่นายสิบสูทกรรมพักในโรงเลี้ยงขนาดใหญ่หรือโรงเลี้ยงที่มีการปฏิบัติหน้าที่ที่มีการเปลี่ยนเวร ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่นอกเวลาราชการ ผู้ช่วยนายสิบสูทกรรม เป็นผู้ดูแลแทนนายสิบสูทกรรม บางครั้งอาจมีการบรรจุ ผู้ช่วยนายสิบสูทกรรมเพิ่มอีก ๑ นาย คุณลักษณะและการปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยนายสิบสูทกรรมดำเนินการปฏิบัติเช่นเดียวกับนายสิบสูทกรรม
๘. เจ้าหน้าที่ประกอบเลี้ยง มีหน้าที่ คือ การเตรียมอาหาร การประกอบอาหาร ตลอดถึงการบริการโดยปกติแล้ว เจ้าหน้าที่ประกอบเลี้ยง ต้องรู้วิธีจัดเตรียมอาหารไว้หลาย ๆ แบบ ไม่ว่าจะมีจำนวนมากหรือน้อยโดยใช้สูตรอาหาร และเครื่องครัวมาตรฐานเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ประกอบเลี้ยงจะต้องตรวจดูว่าอาหารที่ทำขึ้นนั้น มีคุณค่าทางอาหารสูงเพียงใด รสชาติอร่อย ลักษณะน่ารับประทานต้องรับผิดชอบในการฝึกเจ้าหน้าที่ประกอบอาหารที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมาใหม่ ในกรณีที่นายสิบสูทกรรมและผู้ช่วยนายสิบสูทกรรมไม่อยู่ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ประกอบเลี้ยงต้องรับผิดชอบทำหน้าที่แทน รวมทั้งงานด้านสำนักงานทั้งหมดด้วย เมื่อมีความผิดชอบเพิ่มขึ้น หัวหน้าเจ้าหน้าที่ประกอบเลี้ยง จึงต้องได้รับการฝึกและมีประสบการณ์เพียงพอ

หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ประกอบอาหาร

๘.๑ ศึกษาใบสั่งงานครัว เพื่อเตรียมอาหารได้ถูกต้อง และทันเวลาที่กำหนด
๘.๒ เตรียมอาหารให้ถูกต้องตามสูตรที่ใช้ประกอบอาหารตามเวลา และอุณหภูมิที่กำหนดให้เป็นไปตามชนิดของอาหาร
๘.๓ พิจารณาอย่างรอบคอบ ในการจัดอาหาร เพื่อให้มีอาหารเพียงพอตามความเหมาะสม ไม่เกิดการสูญเปล่า และมีของเหลือ
๘.๔ หากมีอาหารเหลือ ต้องนำไปใช้ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเปล่า
๘.๕ จัดทำตารางและการฝึกปฏิบัติงานในหน้าที่ให้กับผู้ช่วย
๘.๖ สังเกตการณ์เตรียมอาหารให้เป็นไปตามหลักสุขอนามัย ของเจ้าหน้าที่และโรงเลี้ยง เผ้าระวังความปลอดภัย
๘.๗ ตรวจสอบเครื่องใช้สม่ำเสมอ เพื่อความพร้อมใช้ เรื่องความสะอาดตลอดถึงการเก็บรักษาเพื่อสะดวกในการใช้งาน
๘.๘ ตรวจดูความเป็นระเบียบในห้องอาหาร การเก็บอาหารไว้ถูกต้องหลังจากการปฏิบัติงานรวมถึง ความเรียบร้อยโดยรวม เช่น ไฟฟ้า  น้ำประปา
๙. ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ประกอบเลี้ยง จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายสิบสูทกรรม ซึ่งนายสิบสูทกรรมจะต้องรับผิดชอบในการฝึกผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ประกอบเลี้ยง และมอบหมายหน้าที่พิเศษให้ปฏิบัติร่วมกับเจ้าหน้าที่ประกอบเลี้ยง และการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ
๑๐. ลูกมือเจ้าหน้าที่ประกอบเลี้ยง ให้คิดจาก จำนวนทหารในอัตราโดยลูกมือเจ้าหน้าที่ประกอบเลี้ยง๒ คน ต่อโรงเลี้ยงที่บริการทหาร ๕๐ คน ต่อ ๑  มื้อ ถ้ามีพลทหารเพิ่มขึ้นทุก ๆ ๕๐ คน เพิ่มลูกมือหน้าที่ลูกมือเจ้าหน้าที่ประกอบเลี้ยง
- ทำความสะอาดดูแลรักษาห้องเก็บของ
- เตรียม ผักผลไม้ สำหรับการประกอบอาหารแต่ละมื้อ
- ทำความสะอาดห้องรับประทานอาหารและห้องครัว
- ล้างภาชนะ  ถาด  ภาชนะที่ใช้บนโต๊ะ และเป็นผู้ใช้เครื่องล้างจาน
- ล้างภาชนะที่ใช้ในการประกอบอาหาร
- รวบรวมและเก็บขยะทิ้งตามเวลาที่กำหนด
๑๑. เจ้าหน้าที่รวบรวมยอด  เป็นผู้ที่มีหน้าที่นับจำนวน ผู้ที่เข้ามารับประทานอาหารในแต่ละมื้อ  โดยปกติแล้วเป็นหน้าที่ของ นายสิบสูทกรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น